สถาปนิก ’61 งานแสดงแนวคิดแห่งโลกสถาปัตยกรรมการออกแบบและการจัดแสดงเทคโนโลยีนวัตกรรมวัสดุสุดทันสมัยจากผู้แสดงสินค้าชั้นนำในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน (ครั้งที่ 32) ในปีนี้ได้มาภายใต้แนวคิด Vernacular Living ที่พร้อมตีแผ่ถึงใจความสำคัญของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทยที่มีการเปลี่ยนผ่านตามยุคสมัยจากอดีต นอกจากนั้นภายในงานยังเป็นการจัดแสดงนวัตกรรมจากผู้แสดงสินค้ารายใหญ่กว่า 850 ราย ที่มาพร้อมผลิตภัณฑ์อีกกว่า 100,000 ชนิด ให้ร่วมชมร่วมสัมผัส พร้อมทั้งอัพเดทแวดวงข่าวสารวงการวัสดุก่อสร้างและพบโปรโมชั่นสุดพิเศษจากผู้แสดงสินค้าภายในงาน
อีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่คอยผลักดันและขับเคลื่อนให้แก่งานสถาปนิก ’61 ครั้งนี้ให้เกิดขึ้น อ.อภิรดี เกษมสุข (ประธานการจัดงานสถาปนิก ’61) ได้ร่วมให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดของการจัดงานและความต้องการสื่อสารสิ่งที่เป็นประโยชน์ออกสู่สังคมดังนี้…
จุดแรกเริ่มของแนวคิด
สำหรับปีนี้ เรานำเสนอแนวคิดมาจากคำว่า Vernacular Living หรือการคงอยู่อาศัยแบบพื้นถิ่นไทยแบบดั้งเดิม และด้วยความที่เราไม่อยากให้รู้สึกว่าแนวคิดนี้ดูธรรมดาจนเกินไป จึงได้ตั้งโจทย์ Beyond Ordinary ขึ้น เพื่อเสริมสร้างแนวคิดของงานให้ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้เรายังมีการแตกแขนงในแง่ของสิ่งที่ใช้จัดแสดงภายในงานหรือเนื้อหาผ่าน 4 พื้นที่หลัก ได้แก่ พื้นที่อยู่อาศัย (Living Space), พื้นที่ทำงาน (Working Space), พื้นที่พบปะสังคม (Meeting Space), พื้นที่สำหรับการเคลื่อนที่ (Moving Space)
นอกจากการขับเคลื่อนผ่าน 4 พื้นที่หลักแล้ว ยังมีการเลือกใช้วัสดุหลักมาทำงานร่วมกันกับการออกแบบพื้นที่ เพื่อแอบอิงกับความเป็น Vernacular Living ให้ยิ่งขึ้นไป อาทิ ดิน, อิฐ, ไม้ไผ่ และไม้ นอกเหนือจากนี้แล้ว ทางทีมงานยังได้รับเกียรติจากสถาปนิกทั้งหมด 18 กลุ่ม เข้าร่วมกันออกแบบพื้นที่และร่วมจัดทำเนื้อหาด้วย จึงทำให้ลักษณะผลงานการจัดแสดงมีความแตกต่างกันออกไป อย่างเช่น การใช้ดินที่มีเทคโนโลยีประยุกต์น้อยหรือมาก การประยุกต์ใช้ไม้ด้วยเทคโนโลยีดัดแปลง โดยสิ่งเหล่านี้ก็จะแทรกอยู่ภายในการจัดแสดงงานผลงานครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
ทำไมถึงเลือกหยิบยก Vernacular Living ขึ้นมานำเสนอ
แรกเริ่มเดิมที ทางเราได้รับโจทย์หลักมาจากท่านนายกสมาคมฯ ด้วยเหตุและผลจากการที่ภาพรวมของวงการสถาปัตย์ไทยในปัจจุบัน ได้มีการให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น พร้อมทั้งการใช้วัสดุดั้งเดิมที่มากขึ้น รวมทั้งสถาปนิกรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ที่มักจะมีการหยิบยกสิ่งที่มีความเป็นดั้งเดิมเหล่านี้ขึ้นมา ดังที่จะสามารถเห็นได้ตามผลงานใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นรีสอร์ทที่อยู่ติดริมทะเลหรือแม้กระทั่งการออกแบบที่พักอาศัยทั่วไปก็ตาม
ซึ่งการที่ความดั้งเดิมเหล่านี้ได้หวนกลับมาอีกครั้งนั้น พร้อมทั้งการที่เราเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านการออกแบบ จึงจำต้องหันมามองย้อนกลับไป ว่าเราจะสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาทำอย่างไรและต้องปรับเปลี่ยนประยุกต์อย่างไรให้คำว่าพื้นถิ่นดั้งเดิมเหล่านี้เป็นได้มากกว่าที่ชาวบ้านคิดหรือคนทั่วไปมอง
ความต่างของการเป็นพื้นถิ่นในสมัยเก่าและสังคมเมืองยุคใหม่
แท้จริงแล้ว ความเป็นพื้นถิ่นดั้งเดิมในสมัยเก่า ล้วนสามารถดำรงคงอยู่และอาศัยได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว (ในรูปแบบของลักษณะของการสั่งสมเพิ่มพูนความรู้และนำมาปรับใช้เพื่ออยู่อาศัยร่วมกัน) เพียงแต่ว่า ณ ตอนนี้ โลกได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย การใช้ชีวิตตามวิถีเดิมๆ ในสังคม จำต้องมีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้เราจึงจำต้องประยุกต์สิ่งดั้งเดิมไว้ใช้ พร้อมทั้งพัฒนาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นส่วนเสริมและเติมเต็ม ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการหาจุดร่วมในการอยู่อาศัยร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยที่ยังคงไม่สูญเสียความเป็นพื้นถิ่นดั้งเดิมไป
นอกจากนี้การมองความเป็นพื้นถิ่นดั้งเดิมของเรา เราไม่ได้มองเพียงแค่ภายในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เรามองไปรอบบริเวณ South East Asia ทั้งหมด เนื่องจากมีลักษณะความใกล้เคียงกันค่อนข้างเยอะ อย่างประเทศเพื่อนบ้าน การใช้วัสดุพื้นถิ่นก็จะใช้แต่ภายในท้องที่ทั่วไป แต่เรามีการนำสิ่งเหล่านี้ มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดีที่สถาปนิกไทยจะได้โชว์ศักยภาพในการออกแบบได้อย่างเต็มรูปแบบ
คิดเห็นอย่างไรกับการขยับขยายของเมืองใหญ่ที่ส่งผลต่อสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นดั้งเดิม
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าเรื่องเหล่านี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับสิทธิของการถือครองที่ดินของเจ้าของที่ที่แท้จริงโดยตรง ยกตัวอย่าง สมมุติว่ามีพื้นที่เปล่าที่ต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นทำเลทองมากๆ จึงทำให้ผู้คนที่ไร้บ้านหรือคนยากจนส่วนมาก ได้ต่างพากันเข้าไปก่อตั้งรกราก หรือนิคมการอยู่อาศัย พร้อมทั้งออกลูกออกหลานเต็มไปหมดบริเวณพื้นที่ แต่พออยู่มาวันหนึ่งทางเจ้าของพื้นที่ที่แท้จริง ต้องการที่จะนำพื้นที่บริเวณนี้มาปรับเปลี่ยน เพื่อใช้ประโยชน์ตามความต้องการ ก็จะกลับกลายเป็นปัญหาของการขับไล่ ทั้งที่พื้นที่บริเวณนี้เจ้าของพื้นที่มีสิทธิในการใช้งานได้ถูกต้องตามกฎหมายในทุกอย่าง ด้วยเหตุนี้เราจึงมองว่าถ้าหากเราลองมาปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการจัดการให้เป็นแบบแผนและสร้างความเป็นระเบียบแก่ชุมชนมากขึ้น อย่างการเจรจาอย่างสันติ และการปรับลักษณะการอยู่อาศัยแบบแนวราบให้เป็นแนวตั้งชุมชนอาคารสูงแล้วล่ะก็ น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดีเช่นกันได้ ซึ่งข้อดีของการปรับลักษณะการอยู่อาศัยในรูปแบบแนวตั้งคือมีการลดขนาดการใช้พื้นที่เพื่อให้สามารถเวนคืนที่ดินได้มากกว่าเดิม และที่สำคัญเลยก็คือจะทำให้สามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้ต่อไปในอนาคต
ส่งท้ายก่อนงานสถาปนิก ’61
สำหรับปีนี้ รูปแบบของงานสถาปนิกจะมีความต่างจากแบบเดิมๆ ในปีที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของรูปแบบการออกแบบพื้นที่งานนิทรรศการ และในส่วนการออกแบบเนื้อหานิทรรศการ โดยเป็นวิธีการสื่อสารถึงการนำพาเราได้ลองมองย้อนกลับไปในสมัยเก่าว่าในฐานะของคนไทยที่อยู่อาศัยภายในประเทศไทย วัสดุในพื้นถิ่นเรามีอะไรที่น่าสนใจ อะไรที่เป็นประโยชน์ในการนำมาสร้างจุดเด่น รวมถึงอะไรที่เราสามารถนำขึ้นมาหยิบยกเพื่อตั้งตำถามได้ ซึ่งเราก็อยากที่จะเชิญชวนทุกคน ทั้งบุคคลทั่วไป นักศึกษา และสถาปนิก ให้มาร่วมเยี่ยมชมภายในงาน ให้ได้มาดูกันว่าแท้จริงแล้วเราก็มีของดีๆ ที่ไม่ธรรมดาอยู่เช่นกัน